ขั้นตอนการอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ
ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษาฯ


ท่านที่สนใจจะบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษา สามารถติดต่อขอบริจาคร่างกายได้ 4 ช่องทาง ดังต่อไปนี้

  1. Download แบบฟอร์มทางอินเทอร์เน็ต
    แบบฟอร์มหนังสือสำคัญการอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา
    คำแนะนำการบริจาคร่างกาย
  2. ติดต่อโดยตรงที่ หน่วยบริจาคร่างกาย ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
    (ตั้งอยู่ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับโรงพยาบาลรามาธิบดี)
  3. โทรศัพท์แจ้งที่อยู่เพื่อการขอแบบฟอร์มหนังสือสำคัญการอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา
    ที่หมายเลขโทรศัพท์: 02-201 5400,  02-354 7346
  4. เขียนจดหมายขอแบบฟอร์มการบริจาคร่างกายมาตามที่อยู่ด้านล่างนี้
    หน่วยบริจาคร่างกาย ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
    เลขที่ 272 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400


————————————————————–

กว่าจะเป็นอาจารย์ใหญ่ 
รศ.พรจันทร์ สายทองดี 
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การบริจาคร่างกายเป็น “กายวิทยาทาน” มีคุณูปการต่อวงการแพทย์อย่างยิ่ง ผู้ทำพินัยกรรมบริจาคร่างกาย ส่วนใหญ่อายุยืนประมาณ 75 ปี สำหรับการบริจาคร่างกายมีขั้นตอนที่ง่ายและรวดเร็ว อย่างไรก็ตามมี คำถามและข้อสงสัยจากผู้บริจาคฯและญาติ เกี่ยวกับขั้นตอนต่าง ๆ เริ่มจากการกรอกแบบฟอร์มจนถึงได้ร่างเป็นอาจารย์ใหญ่ การให้นักศึกษาเรียน และการจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพ ดังนั้นจึงขอสรุปคำถาม และคำตอบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. การทำพินัยกรรมมอบร่างกายให้ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 
                ผู้ที่มีจิตศรัทธาตั้งใจจะมอบร่างกายหลังเสียชีวิตเป็นวิทยาทานโดยกรอกแบบฟอร์มหนังสือสำคัญการอุทิศร่างกาย เพื่อการศึกษา จำนวน 2 ชุด มีพยานซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัว (ญาติ) เซนต์รับรอง ใช้รูปถ่าย (ขนาด 1 นิ้ว) จำนวน 2 ใบ และสำเนาบัตรประชาชน 1 ใบ หลังจากนั้นผู้บริจาคจะได้บัตรประจำตัว และรับแบบฟอร์มคืน1 ชุด ส่วนแบบฟอร์มอีกชุดหนึ่งจะเก็บไว้ที่ภาควิชาฯ ผู้บริจาคฯ สามารถกรอกแบบฟอร์มที่บ้านแล้วส่งเอกสารทั้ง 2 ชุด พร้อมรูปถ่ายและสำเนาบัตรประชาชนมาที่ภาควิชากายวิภาคฯ ทางไปรษณีย์ก็ได้

2. ถ้าผู้ตายไม่ได้เขียนพินัยกรรมไว้ แต่เมื่อเสียชีวิตแล้วญาติต้องการจะบริจาคร่างจะทำได้หรือไม่ 
                สามารถทำได้โดยญาติเป็นผู้เขียนเอกสารบริจาคร่างกายแล้วส่งเอกสารให้ภาควิชาฯ เก็บไว้เป็นหลักฐานพร้อมมอบร่าง

3. เมื่อผู้บริจาคร่างกายถึงแก่กรรมจะทำอย่างไร 
                เมื่อผู้บริจาคร่างกายถึงแก่กรรมและอยู่ระยะทางไม่เกิน 100 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ให้ญาติแจ้งมาทางภาควิชาฯ ภายใน 24 ชั่วโมง ตามเบอร์โทรศัพท์ที่ระบุไว้ด้านหลังบัตรประจำตัวผู้บริจาคฯ (02-201-5400 และ 081-841-6830 หรือ 081-841-8632) และต้องแจ้งกับทางห้องเก็บศพของทางโรงพยาบาล (ในกรณีเสียชีวิตในโรงพยาบาล) ว่าได้บริจาคร่างกายไว้ และไม่ต้องให้ทางโรงพยาบาลฉีดน้ำยารักษาศพ เพียงแต่ให้เก็บร่างผู้บริจาคไว้ในตู้เย็นของโรงพยาบาลเท่านั้น และควรเป็นตู้เย็นธรรมดา ไม่ใช่ตู้แช่แข็ง เพราะทางภาควิชาฯ จะส่งเจ้าหน้าที่ไปจัดการเรื่องฉีดน้ำยารักษาสภาพศพตามวิธีของเรา และต้องฉีดภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากเสียชีวิต ในการฉีดน้ำยา เจ้าหน้าที่อาจรับศพไปฉีดน้ำยาที่ภาควิชาฯแล้วนำไปดองน้ำยาต่อไป การเคลื่อนย้ายร่างผู้บริจาคจำเป็นต้องมีบันทึกประจำวันแจ้งการเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ (สำหรับการเสียชีวิตที่บ้าน) หรือเอกสารรับรองการเสียชีวิตจากแพทย์ (สำหรับการเสียชีวิตที่โรงพยาบาล) ไปกับรถทุกครั้ง ฉะนั้นญาติต้องดำเนินการให้ได้เอกสารนี้อย่างใดอย่างหนึ่งให้เรียบร้อยก่อน เมื่อเจ้าหน้าที่ได้สำเนาเอกสารแล้วจึงจะเคลื่อนย้ายศพได้ จากนั้นญาติต้องดำเนินการขอใบมรณบัตร
                การได้มาซึ่งใบมรณบัตร ถ้าผู้บริจาคฯ เสียชีวิตที่บ้านต้องแจ้งการเสียชีวิตต่อผู้ใหญ่บ้าน แล้วผู้ใหญ่บ้านจะแจ้งตำรวจเพื่อมาตรวจดูว่าเป็นการเสียชีวิตธรรมดา แล้วตำรวจจะลงบันทึกประจำวันแจ้งการเสียชีวิตจากนั้นจึงนำบันทึกฯ นี้ไปที่อำเภอ เพื่อออกใบมรณบัตร ถ้าในกรณีเสียชีวิตที่โรงพยาบาล หลังจากแพทย์เซ็นต์รับรองการเสียชีวิตด้วยโรค………..แล้วดำเนินการให้โรงพยาบาลออกใบรับรองการเสียชีวิต แล้วจึงนำใบรับรองนี้ไปที่อำเภอ เพื่อออกใบมรณบัตร โดยท่านสามารถส่งสำเนาใบมรณบัตรให้ภาควิชาฯ ในภายหลังได้

4. จะแช่น้ำยาไว้นานเท่าไรจึงจะนำมาศึกษาได้ 
                สำหรับนักศึกษาแพทย์ ร่างของอาจารย์ใหญ่ที่ใช้เรียนจะเป็นชนิดที่ดองด้วยฟอร์มาลิน โดยร่างอาจารย์ใหญ่จะถูกแช่น้ำยาดองเป็นเวลาประมาณ 1 ปี เพื่อให้กล้ามเนื้อและอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้รับการรักษาสภาพเป็นอย่างดี จึงจะสามารถนำมาศึกษาได้ บางครั้งเมื่อดองครบ 1 ปี แล้วยังไม่ได้นำขึ้นมาศึกษา เนื่องจากยังมีผู้บริจาครายอื่นที่เสียชีวิตก่อนรอคิวอยู่ ดังนั้น อาจใช้เวลานานถึง 2 ปีกว่าจะได้นำขึ้นศึกษา 
                สำหรับแพทย์ฝึกหัดต้องการฝึกผ่าตัดและกลุ่มแพทย์เฉพาะทางที่ต้องการเรียนรู้เทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่ที่ทันสมัย มีการเปิดแผลให้เล็กลง แต่ให้ประสิทธิผลการรักษาที่ดีกว่าและแผลหายเร็ว ร่างของอาจารย์ใหญ่ที่ใช้เรียนจะเป็นแบบนิ่มกว่า มีวิธีเตรียมและใช้น้ำยาที่ต่างกัน หลังผู้บริจาคฯ เสียชีวิตจะต้องฉีดน้ำยารักษาสภาพให้ศพเร็วที่สุด แล้วใช้เรียนเลยภายในระยะเวลา 50 วัน

5. ก่อนจะนำร่างขึ้นมาศึกษา ภาควิชาฯ ทำบุญให้ผู้บริจาคก่อนหรือไม่ 
                เมื่อร่างบริจาคที่ดองถึงกำหนดที่จะนำขึ้นมาให้นักศึกษาเรียน ทางภาควิชาฯจะมีจดหมายมายังญาติผู้บริจาคฯ ตามที่อยู่ที่กรอกไว้ เพื่อแจ้งกำหนดงานพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้อาจารย์ใหญ่ก่อนให้นักศึกษาเรียน พร้อมกับเชิญญาติมาร่วมทำบุญด้วย   ในวันทำบุญนี้ญาติอาจารย์ใหญ่ที่มาร่วมพิธีมักจะบริจาคเงินทำบุญสมทบค่าอาหารและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ บางคนก็บริจาคเงินสมทบกองทุนเพื่อการศึกษากายวิภาคศาสตร์ ซึ่งภาควิชาฯ ติดรายชื่อไว้ที่บอร์ดของภาควิชาฯ หรือบางคนบริจาคเงินตั้งกองทุนชื่ออาจารย์ใหญ่ เพื่อนำมาเป็นทุนการศึกษาหรือเป็นรางวัลเรียนดีแก่นักศึกษาซึ่งจะมีการมอบทุนให้แก่นักศึกษาในวันทำบุญอาจารย์ใหญ่นั่นเอง ทั้งนี้ญาติอาจจะติดต่อบริจาคได้โดยตรงที่สำนักงานของภาควิชาฯ 
                สำหรับเงินบริจาคช่วยในการจัดพิธีทำบุญนั้น   ถ้ายังมีเงินเหลือนักศึกษาก็จะเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับงานพิธีพระราชทาน เพลิงศพอาจารย์ใหญ่ซึ่งจัดหลังจากที่ได้ศึกษาวิชานี้จบลงแล้ว 
                ในวันทำบุญอาจารย์ใหญ่ก่อนเปิดเรียน ญาติสามารถเข้าเยี่ยมอาจารย์ใหญ่ซึ่งร่างได้รับการจัดวางไว้บนโต๊ะ โดยมีผ้าคลุมไว้อย่างเรียบร้อย  ญาติสามารถขอดูหน้าได้ซึ่งสภาพอาจารย์ใหญ่ตอนนี้ก็จะเหมือนคนนอนหลับอยู่บนเตียงนั่นเอง เพียงแต่ผิวหนังมีสีคล้ำกว่าปกติเล็กน้อย

6. นักศึกษาจะใช้เวลาในการศึกษาร่างอาจารย์ใหญ่นานเท่าไร 
                ในการเรียนวิชามหกายวิภาคศาสตร์ ร่างอาจารย์ใหญ่หนึ่งท่านจะมีนักศึกษาแพทย์ 7-8 คนใช้ในการเรียนประจำ ซึ่งนักศึกษาทั้ง 8 คนนี้จะได้รับการกำหนดให้ประจำโต๊ะอาจารย์ใหญ่ 1 โต๊ะ ก่อนวันงานทำบุญ  ฉะนั้นในวันงานทำบุญ นักศึกษาจะได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับญาติอาจารย์ใหญ่ท่านนั้น เพื่อทำความรู้จักกับญาติและเพื่อสอบถามถึงความเป็นอยู่ และโรคภัยไข้เจ็บของอาจารย์ใหญ่ก่อนเสียชีวิตเพื่อนำมาประกอบการศึกษา สำหรับวิชามหกายวิภาคศาสตร์ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลนี้มีนักศึกษาที่เรียนโดยวิธีชำแหละเอง 4 กลุ่ม ได้แก่ นักศึกษาแพทย์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี นักศึกษาแพทย์วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล นักศึกษาแพทย์คณะแพทยศาสตร์พระบรมราชชนก และนักศึกษาบัณฑิตของภาควิชากายวิภาคศาสตร์ นอกจากนี้ร่างกายของอาจารย์ใหญ่บางท่านยังใช้สอนในวิชากายวิภาคศาสตร์พื้นฐาน ซึ่งอาจารย์จะเป็นผู้ชำแหละแล้วใช้สอนแสดงแก่นักศึกษาพยาบาลรามาธิบดีและศิริราชชั้นปีที่ 1 นักศึกษาเทคนิคการแพทย์ชั้นปีที่ 2 นักศึกษาสาธารณสุขชั้นปีที่ 2 นักศึกษารังสีเทคนิคชั้นปีที่ 2 นักศึกษาวิศวกรรมชีวการแพทย์ชั้นปีที่ 1 และนักศึกษาความผิดปกติของการสื่อความหมายชั้นปีที่ 1 รวมทั้งนักศึกษาสมทบจากอีกหลายสถาบัน 
                สำหรับร่างอาจารย์ใหญ่ที่นักศึกษาแพทย์ เรียนด้วยการชำแหละเองใช้เวลาประมาณ 9 เดือน หลังจากนั้นญาติสามารถนำร่างที่เรียนแล้วกลับไปทำการฌาปนกิจได้  ถ้าญาติแจ้งไว้ล่วงหน้าว่าจะแยกไปจัดการฌาปนกิจเอง และสามารถขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษได้ด้วยการแจ้งทางภาควิชาฯ ให้ออกจดหมายขอพระราชทานเพลิงฯ แล้วญาตินำจดหมายนี้ไปติดต่อกับสำนักพระราชวัง  สำหรับญาติผู้ที่แจ้งให้ภาควิชาฯ จัดการเรื่องการฌาปนกิจให้  ทางภาควิชาฯ ก็จะดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ โดยจะแจ้งวันและกำหนดการจัดพิธีสวดและพิธีพระราชทานเพลิงศพให้ทราบต่อไป

7. ถ้าแจ้งไว้ว่าจะให้ภาควิชาทำการฌาปนกิจให้ แล้วสามารถเปลี่ยนความประสงค์ขอนำศพไปทำการฌาปนกิจเองได้หรือไม่ 
                ถ้าญาติอาจารย์ใหญ่บางท่านต้องการเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมที่อาจารย์ใหญ่แสดงความจำนงไว้ว่าจะให้ภาควิชาฯ ทำการฌาปนกิจศพให้ เป็นการนำไปฌาปนกิจศพเอง ก็สามารถทำได้โดยต้องแจ้งให้ภาควิชาฯ ทราบในวันทำบุญอุทิศส่วนกุศลหรือแจ้งก่อนที่นักศึกษาจะเรียนจบ ประมาณ 3 เดือน ทั้งนี้เพื่อนักศึกษาจะได้ไม่ปะปนชิ้นส่วนของอาจารย์ท่านนั้นกับท่านอื่น ทั้งนี้ปกติร่างอาจารย์ที่ให้ทางภาควิชาฯ ทำการฌาปนกิจนั้น ทางภาควิชาฯจะบรรจุร่างรวมกันหีบละ 2 ร่าง จึงไม่สามารถแยกเถ้ากระดูกของอาจารย์ใหญ่แต่ละท่านได้

8. พิธีการในวันพระราชทานเพลิงศพมีอะไรบ้าง 
                งานพระราชทานเพลิงศพจะจัดช่วงเดือนมิถุนายน  โดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะจัดให้มีการสวดพระอภิธรรม 1 คืน แล้ววันถัดมามีการแสดงพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ แล้วจึงเป็นพิธีพระราชทานเพลิงศพ ซึ่งมีการดำเนินงานตามประเพณีนิยมทุกอย่าง กำหนดการในแต่ละปีอาจแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย

9. มีหนังสืออนุสรณ์แจกหรือไม่ 
                นักศึกษาจะจัดทำอนุสรณียสาร ที่มีรูปและประวัติอาจารย์ใหญ่ทุกท่าน (รวมทั้งอาจารย์ใหญ่ที่ญาติแยกไปฌาปนกิจเองด้วย) เพื่อแจกให้แก่ผู้ร่วมงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ ไว้เป็นที่ระลึก นอกจากรูปและประวัติอาจารย์ใหญ่แล้วยังมีคำไว้อาลัยของญาติ และนักศึกษาที่เขียนแสดงความขอบคุณซาบซึ้ง ในการเสียสละมอบร่างให้เป็นวิทยาทาน

10. กระดูกและเถ้าของอาจารย์ใหญ่ไปไว้ที่ไหน 
                วันรุ่งขึ้นหลังจากพิธีพระราชทานเพลิงศพจะมีพิธีเก็บเถ้ากระดูกของอาจารย์ใหญ่ แล้วนักศึกษาจะนำไปลอยอังคารที่เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี หรือที่ใดที่หนึ่งที่จะกำหนดภายหลัง

11. ท่านที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วเกิดจิตอันเป็นกุศลต้องการจะบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษา สามารถเลือกดำเนินการได้ 4 ช่องทาง ดังต่อไปนี้

  1. Download แบบฟอร์มทางอินเทอร์เน็ต
    แบบฟอร์มหนังสือสำคัญการอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา
    คำแนะนำการบริจาคร่างกาย
  2. ติดต่อโดยตรงที่ หน่วยบริจาคร่างกาย ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
    (ตั้งอยู่ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับโรงพยาบาลรามาธิบดี)
  3. โทรศัพท์แจ้งที่อยู่เพื่อการขอแบบฟอร์มหนังสือสำคัญการอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา
    ที่หมายเลขโทรศัพท์: 02-201 5400,  02-354 7346
  4. เขียนจดหมายขอแบบฟอร์มการบริจาคร่างกายมาตามที่อยู่ด้านล่างนี้
    หน่วยบริจาคร่างกาย ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
    เลขที่ 272 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400